:: ครูนวพร ::

  • Today’s Photo

  • Calendar:

    พฤษภาคม 2024
    อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
     1234
    567891011
    12131415161718
    19202122232425
    262728293031  
  • Archieves:

  • จำนวนผู้เข้าชม

    • 524,339 hits

Posts Tagged ‘สุขภาพ’

อีโบลา เชื้อไวรัสมรณะ

Posted by Kru nawaporn บน ตุลาคม 15, 2014

Untitled-2

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

Posted in สุขภาพ และโภชนาการ | Tagged: , , | Leave a Comment »

10 โรคร้ายที่แฝงมากับลมหนาว

Posted by Kru nawaporn บน ตุลาคม 15, 2014

ในปัจจุบันคนเราต้องเผชิญกับผลกระทบหลายอย่างอันเกิดจากภาวะโลกร้อน ที่ทำให้สภาพอากาศทั่วโลกมีความแปรปรวน บางพื้นที่อาจมีอากาศหนาวมากขึ้นทั้งที่อยู่ในเขตร้อน บางพื้นที่กลับมีอากาศร้อนขึ้นทั้งที่อยู่ในเขตหนาว หรือบางพื้นที่ก็เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวสลับกันไป ซึ่งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้เอง ทำให้ร่างกายของเราปรับตัวตามไม่ทัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในทุกเพศทุกวัย 

อาจกล่าวได้ว่าเสื้อผ้ากันหนาวอาจจะขายดีในช่วงนี้ ในพื้นที่ทางภาคเหนืออาจจะพอได้ใช้ป้องกันหนาว แต่ในบางพื้นที่ก็แทบจะไม่ได้ใช้เลย ผลกระทบจากอากาศที่หนาวเย็นมากขึ้น ทำให้ระดับอุณหภูมิมีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อย ๆ และเหมือนว่าจะยาวนานกว่าทุก ๆ ปี บางคนอาจจะไม่ค่อยรู้สึกกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะคิดว่าเดี๋ยวคงจะหนาวไม่นาน และคิดว่าร่างกายตนเองแข็งแรงดีอยู่แล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ความเชื่อที่ว่านี้ต้องระวัง!! จากการติดตามสถานการณ์ในฤดูหนาวที่ผ่านมาโดยกระทรวงสาธารณสุขนั้น พบว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีผู้ป่วยจากโรคฤดูหนาวรวมกันทั่วประเทศกว่า 515,580 ราย พบว่ามีการเสียชีวิต 315 ราย โดยพบว่าป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงมากที่สุดคือ 442,187 ราย รองลงมาเป็นโรคปอดบวม-ปอดอักเสบ และโรคอีสุกอีใส นอกจากนี้ก็ยังพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ โรคหัด และหัดเยอรมันด้วย ดังนั้นเพื่อให้รู้ทันโรคร้ายที่อาจแฝงมาพร้อมกับอากาศที่หนาวเย็น จึงควรรู้ไว้ว่ามีโรคอะไรบ้างที่ต้องเตรียมการป้องกันไว้ล่วงหน้า 

1. โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย สามารถติดต่อกันได้ทางการหายใจ ไอหรือ จามรดกัน เชื้อมักแพร่กระจายในสถานที่แออัดไม่มีอากาศถ่ายเท เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ตลาดสด โดยอาการจะเริ่มต้นจากการมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ บางคนอาจหนาวสั่น แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ก็มักจะมีอาการรุนแรงกว่าการติดหวัดธรรมดา คือ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะมาก ปวดตามกล้ามเนื้อ ตามกระดูก คลื่นไส้ กินได้น้อยลง ร่วมกับอาจมีภาวะขาดน้ำหากมีอาการอาเจียนร่วมด้วย และควรระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ คออักเสบ ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ 

2. โรคหลอดลมอักเสบ เป็นโรคที่อาจเกิดตามหลังไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส จะมีอาการไอและไอมากตอนกลางคืน โดยระยะแรกจะไอแห้ง ๆ มีเสียงแหบและเจ็บหน้าอกมาก เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว มีไข้ อ่อนเพลีย ในเด็กอาจไอมากจนอาเจียน บางรายมีอาการคล้ายหอบหืดจากภาวะหลอดลมหดเกร็งตัว โดยปกติโรคนี้สามารถหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ก็อาจลุกลามถึงขั้นปอดอักเสบได้ การรักษาเบื้องต้น คือการพักผ่อนให้มาก ควรดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ เพื่อช่วยให้เสมหะระบายออกได้ง่ายขึ้น หลีกเลี่ยงดื่มน้ำเย็น งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงอยู่ในที่ ที่มีอากาศเสียหรือฝุ่นละอองมาก ๆ 

3. โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ เป็นโรคที่อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดหรือติดจากเชื้อโดยตรงได้ ปอดบวมมักพบในเด็ก สามารถติดต่อได้ทางการหายใจ น้ำมูก น้ำลาย และใช้ของร่วมกัน มีระยะฟักตัวของโรค 1-3 วัน และอาจนานถึง 1 สัปดาห์ในบางราย โรคปอดบวมเป็นโรคที่ควรระวังเป็นอย่างมาก เพราะในปีที่ผ่านมาพบว่าโรคนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของกลุ่มโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กแรกเกิดถึงขวบปีแรก อาการจะเกิดตามหลังโรคหวัดประมาณ 2-3 วัน ดังนั้นหากพบว่าสงสัยหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับอาการโดยเฉพาะในเด็กเล็กให้ควรนำมาปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ 

4. โรคหัด พบมากในเด็กอายุตั้งแต่ 1-6 ขวบ ติดต่อได้จากการไอ จามรดกัน หรือได้รับละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เข้าไป โรคหัดมักเกิดในช่วงฤดูหนาวยาวต่อช่วงฤดูร้อน ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกัน อาการของโรคหัดจะเริ่มจากมีไข้ น้ำมูก ไหล ไอ ตาแดง อาการจะรุนแรงมากขึ้น จนมีอาการปวดเมื่อยตัว ถ่ายเหลว ผื่นของไวรัสหัดจะขึ้นราววันที่ 4 หลังรับเชื้อ หลังจากนั้นไข้จะค่อย ๆ ลด เมื่อผื่นกระจายทั่วตัว ระหว่างนั้นต้องระวังการเสียชีวิตจากภาวะโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง สมองอักเสบ และภาวะทุพ โภชนาการ 

5. โรคหัดเยอรมัน เชื้อไวรัสหัดเยอรมัน ทำให้มีไข้ต่ำจนถึงไข้สูง มีผื่นแดงคล้ายหัด แต่ลักษณะผื่นจะใหญ่และเป็นกลุ่ม ๆ กระจายตัวห่างกว่า ในเด็กเล็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ โดยเฉลี่ยจะมีอาการประมาณ 1-5 วัน มีไข้ ผื่นแดงตามตัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร สิ่งสำคัญคือ ต้องระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์ 

6. โรคอีสุกอีใส พบว่ามักเกิดในเด็ก แต่พบได้น้อยในผู้ใหญ่ อาการแรกเริ่มจะมีไข้ต่ำ ๆ เหมือนไข้หวัด หลังจากนั้นจะมีผื่นแดง ตุ่มนูนขึ้น และจะเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสประมาณ 2-3 วันนับตั้งแต่เริ่มมีไข้ หลังจากนั้นตุ่มพองใสก็จะกลายเป็นตุ่มหนอง แล้วค่อย ๆ เริ่มแห้งตกสะเก็ด ทั้งนี้ ผื่นอาจขึ้นได้ในคอ ตา และปาก ทำให้กินอาหารได้น้อย เกิดอาการขาดน้ำ โดยทั่วไปหากได้รับการดูแลที่เหมาะสม โรคจะสามารถหายได้โดยตัวเองโดยไม่เกิดโรคแทรกซ้อน 

7. โรคอุจจาระร่วง สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสหลายชนิด และมักพบผู้ป่วยได้มากในหน้าหนาว สามารถติดต่อได้จากการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป นอกจากนี้ยังติดต่อทางน้ำลาย น้ำมูกได้เช่นกัน ลักษณะอาการจะถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง แม้อาการไม่รุนแรง แต่อาจมีอาการขาดน้ำรุนแรงได้ในบางราย ภาวการณ์การติดเชื้อมักพบได้ในชุมชน ศูนย์ฝากเลี้ยงเด็ก หรือสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากๆ ดังนั้น การออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด ก็จะเป็นการป้องกันโรคอุจจาระร่วงได้ 

8. โรคตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในหน้าหนาวเช่นกัน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิดกับโรคตาแดงที่เกิดขึ้นในหน้าร้อน การสัมผัสกับเชื้อมักเกิดจากมือที่สกปรก ไปหยิบจับ หรือสัมผัสกับขี้ตา น้ำตาของผู้ที่เป็นโรคแล้วมาป้ายตา ตัวเอง โรคตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบสามารถระบาดได้ง่ายโดยเฉพาะในเด็กนักเรียน ส่วนการป้องกันให้หมั่นล้างมือให้สะอาด ไม่เอามือขยี้ตา ไม่คลุกคลีกับคนเป็นโรค เมื่อเป็นโรคควรหยุดงานหรือหยุดเรียน เพื่อไม่ไห้ติดต่อไปยังผู้อื่น 

9. โรคผิวหนังแห้งอักเสบ เมื่อผิวกระทบอากาศเย็น ทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์น้อยและแห้ง การสูญเสียน้ำออกจากผิวหนังก็จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผิวหนังเกิดปัญหาแห้งหยาบ เป็นขุย แตก ปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาที่ก่อความรำคาญ เพราะเมื่อผิวแห้งมากจะรู้สึกคัน ยิ่งอากาศหนาวมาก ๆ จะยิ่งแสบร้อนและคัน หากดูแลไม่ดีอาจเกิดแผลอักเสบจากการเกาจนเลือดออก และมีสิ่งสกปรกเข้าแผลจนเกิดการติดเชื้ออักเสบขึ้นได้ การป้องกัน คือการรักษาความชุ่มชื้นจากภายในและภายนอกร่วมกัน โดยการดื่มน้ำและผลไม้ให้มากขึ้น เปลี่ยนรูปแบบและวิธีการอาบน้ำ โดยลดอุณหภูมิของน้ำลงไม่ควรอาบน้ำร้อนเกิน 34 องศาเซลเซียส ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์หลังอาบน้ำ หากมีผิวแห้งมาก ๆ แนะนำให้ใช้น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์จะช่วยให้ผิวชุ่มชื้นได้นาน และหากผิวหนังแห้งอักเสบรุนแรงหรือคันมาก ๆ ให้รีบไปพบแพทย์ 

10. โรคผิวหนัง เช่น เชื้อรา กลาก เกลื้อน การแพ้ทางผิวหนัง จากเสื้อกันหนาวหรือเครื่องนุ่งห่มมือสอง ผู้ที่นิยมชมชอบเสื้อผ้ามือสองต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะแม้ว่าราคาของเสื้อมือสองจะค่อนข้างถูกกว่า แต่ไม่ทราบแน่ชัดถึงที่มา จึงมั่นใจไม่ได้ว่ามีความสะอาดหรือไม่ ทั้งยังอาจนำพาโรคมาสู่ผิวหนังได้อีกด้วย ดังนั้น จะต้องสืบหาที่มาของเสื้อผ้าเหล่านั้นเสียก่อน หรือต้องทำความสะอาดให้ถูกวิธี เช่น การซักล้าง การต้มฆ่าเชื้อ การตรวจสอบรอยด่างดำ รอยคราบสารคัดหลั่ง รวมไปถึงกลิ่นอับชื้นที่ติดอยู่ เพราะนอกจากเชื้อราแล้ว โรคตับอักเสบหรือไวรัส บางชนิด อาจส่งผลร้ายต่อผิวหนังได้ ดังนั้น ควรมีการต้มให้เดือด ซักล้างให้สะอาด ฆ่าเชื้อก่อนและนำไปตากแดดให้แห้งสนิท ก็จะช่วยสร้างความแน่ใจให้กับผิวหนัง 

การเตรียมตัวพร้อมรับมือกับ 10 โรคร้าย ที่อาจแฝงมากับหน้าหนาวในปีนี้ จึงควรรู้จักกับโรคต่าง ๆ เอาไว้ให้รู้จักวิธีการป้องกันและดูแลรักษาในเบื้องต้น หมั่นแบ่งเวลาให้มีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รับประทานอาหารที่สุกและสะอาด ในสัดส่วนที่เหมาะสม ครบทั้ง 5 หมู่ หลีกเลี่ยงสัมผัสกับผู้ป่วย ที่ไม่สบาย คุณแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อให้มีภูมิต้านทานกับทารก สวมหน้ากากป้องกันการไอ จามรดใส่กัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่ว นอกจากนี้แล้ว การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโดยการฉีดวัคซีนก็ยังถือว่ามีความจำเป็น ทั้งวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส โรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม และไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น 

การเตรียมตัวเพียงไม่กี่ข้อนี้ จะถือว่าเป็นคาถาวิเศษสำหรับป้องกันโรคที่แฝงมากับหน้าหนาวในปีนี้ได้เป็นอย่างดีทีเดียว 

นพ.ศักดา อาจองค์
แพทย์ผู้เชียวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Posted in สุขภาพ และโภชนาการ | Tagged: , , , | Leave a Comment »

การดูแลปฏิบัติตนของผู้ป่วยที่เป็นตับแข็ง

Posted by Kru nawaporn บน กันยายน 11, 2013

           เนื่องจากตับมีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง รวมทั้งการสร้างการทำลาย และเผาผลาญสารต่างๆ ในร่างกายรวมทั้งอาหาร ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมีตับแข็ง ตับจะสูญเสียหรือมีความบกพร่องในการทำงาน จึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วย และญาติจะต้องช่วยดูแลในการปฏิบัติของผู้ป่วยให้เหมาะสม ดังนี้ 

            อาหาร ผู้ป่วยตับแข็งในระยะที่ตับยังสามารถทำงานได้ดี ควรรับประทานอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ตามหลักโภชนาการ และควรรับประทานอาหารพวกโปรตีนประมาณวันละ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งจะประมาณ 60 กรัมต่อวัน

แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นตับแข็งระยะที่การทำงานของตับไม่ปกติแล้ว ซึ่งจะสังเกตุจากอาการทางคลีนิคคือ ผู้ป่วยอาจมีอาการตาเหลืองตัวเหลือง (ดีซ่าน), มีท้องโตขึ้นจากมีน้ำอยู่ในช่องท้อง (ท้องมาน), ขาบวม, มีอาการผิดปกติทางสมองซึมลง การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีภาวะขาดสารอาหารอยู่แล้วด้วย ดังนั้นอาหารที่ต้องกินแต่ละวันควรมีจำนวนแคลอรี่ต่อวันมากขึ้น และต้องการสารอาหารโปรตีน เป็นวันละ 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม คือประมาณวันละ 80-90 กรัมต่อวัน

แต่ปัญหาที่สำคัญคือผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะกินอาหารโปรตีนมากไม่ได้ เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการทางสมอง (hepatic encephalopathy) จึงแนะนำให้กินมากเท่าที่ทนได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ประมาณ 40 กรัมต่อวัน จึงควรต้องกินอาหารโปรตีนที่ร่างกายสามารถทนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งโปรตีนจากพืชจะเกิดอาการทางสมองน้อยกว่าโปรตีนจากสัตว์ จึงแนะให้รับประทานพวกถั่วเหลืองเสริม

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นตับแข็งมากแล้ว มักจะไม่สามารถรับประทานโปรตีนได้เท่าที่ควรจะได้รับ ในกรณีนี้สามารถให้อาหารเสริมซึ่งเป็นโปรตีนชนิดกิ่ง (branch chain amino acid) เพราะการศึกษาทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยสามารถกินโปรตีนชนิดกิ่งได้มากเพียงพอจนทำให้ระดับโปรตีนในเลือดดีขึ้น โดยไม่เกิดอาการทางสมองอย่างไรก็ตามโปรตีนชนิดกิ่ง จะมีรสชาติที่ไม่อร่อย ผู้ป่วยบางรายอาจจะรับประทานไม่ได้ จึงมีความจำเป็นที่แพทย์ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงเหตุผลและความสำคัญ ปกติผู้ป่วยก็ควรช่วยสนับสนุนและกระตุ้นผู้ป่วยให้รับประทาน อีกปัญหาคือ อาหารโปรตีนชนิดกิ่งมีราคาค่อนข้างแพง

            ผู้ป่วยตับแข็งจะมีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยและดูดซึมไขมัน จึงไม่ควรรับประทานอาหารที่มีมันมากไป นอกจากนี้ผู้ป่วยตับแข็ง อาจมีน้ำในช่องท้อง จึงควรรับประทานอาหารจืด, พยายามอย่าเติมเกลือ หรือน้ำปลามากไป พยายามฝึกรับประทานอาหารรสจืด ผู้ป่วยตับแข็งมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งตับมากขึ้นจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจปนเปื้อนสารอะฟาท็อกซิน ซึ่งสร้างจากรา เพราะสารนี้จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับมากยิ่งขึ้น สารอะฟาท็อกซินนี้ทนความร้อนได้สูงถึง 296 องศาเซลเซียส จึงไม่ถูกทำลายไปด้วยการทำอาหารให้สุก อาหารที่อาจปนเปื้อนอะฟาท็อกซินได้แก่ พวกถั่วลิสงตากแห้ง พริกป่นปลาเค็ม เป็นต้น

          ผู้ป่วยตับแข็งควรงดรับประทานอาหารทะเลสุกๆดิบๆ เพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงจนช็อค และเสียชีวิตได้ 

          เมื่อทราบว่าควรรับประทานอาหารอย่างไรบ้างแล้ว มาถึงการแบ่งเวลารับประทาน ในผู้ป่วยตับแข็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ตับทำงานไม่ปกติแล้ว ควรรับประทานอาหารวันละ 4-7 มื้อ เพราะผู้ป่วยตับแข็ง งดอาหารช่วงกลางคืน 1 คืน จะเท่ากับคนปกติ งดอาหารไป 3 วัน นอกจากนี้ยังดีกับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยตับแข็งอาจมีน้ำในช่องท้อง ร่วมกับการเคลื่อนที่ของระบบทางเดินอาหารไม่ดี เวลารับประทานอาหารมากจะมีอาการอืดแน่นท้องได้ เพื่อง่ายในการปฏิบัติขอแนะนำตารางการรับประทานอาหาร ดังนี้

เวลา 7.00 น. อาหารเช้า / เวลา 10.00 น. อาหารว่าง / เวลา 12.00 น. อาหารเที่ยง / เวลา 15.00 น. อาหารว่าง  / เวลา 18.00 น.  อาหารเย็น / เวลา 21.30 น. อาหารก่อนนอน 

          อาหารว่าง : อาจเป็นขนมที่ทำจากถั่วเหลือง หรือนมถั่วเหลือง (น้ำเต้าหู้) ใส่ไข่ต้มโดยกินเฉพาะไข่ขาว หรือเต้าฮวยในผู้ป่วยที่ตับแข็งเป็นมากแล้ว และได้สารอาหารโปรตีนได้เท่าที่ต้องการ อาจเสริม เช่น อาหารโปรตีนชนิดกิ่งให้ในช่วงอาหารว่างสัก 1-2 มื้อ และก่อนเข้านอนอีก 1 แก้ว 

           วิตามิน ผู้ป่วยตับแข็งมักจะขาดวิตามินหลายชนิด ดังนั้นจึงควรรับประทานวิตามินเสริมร่วมด้วย อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานวิตามินที่ละลายในไขมันเอง เช่นวิตามิน เอ, อี เพราะวิตามินที่ละลายในไขมัน ถ้ารับประทานมากเกินไปจะมีการสะสมที่ตับ และอาจมีผลเสียต่อตับเอง นอกจากนี้ถ้าผู้ป่วยไม่ได้ขาดธาตุเหล็กก็ไม่ควรรับประทานเหล็กเสริมเข้าไป เพราะเหล็กจะทำให้มีการสร้างผังผืดในตับมากขึ้น 

          แอลกอฮอล์ ผู้ป่วยที่มีตับแข็งแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น พวกสุราทุกชนิด เพราะอาจทำให้โรคตับแย่ลง นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการแตกของเส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญสาเหตุหนึ่งในผู้ป่วยโรคตับแข็ง 

          การออกกำลังกาย ในผู้ป่วยตับแข็งที่ตับยังสามารถทำงานได้ดีสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติเพียงแต่ไม่หักโหมเกินไป และควรมีการพักผ่อนให้เพียงพอ ในกรณีที่ตับทำงานไม่ปกติแล้วก็ควรออกกำลังกายเบาๆ เช่น วิ่งเหยาะๆ หรือเดินเร็ว ถ้ารู้สึกเพลียก็พัก ที่สำคัญควรต้องระวังการเกิดอุบัติเหตุ เพราะผู้ป่วยตับแข็งอาจมีเกล็ดเลือดต่ำและมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เลือดออกง่าย หยุดยาก 

          ยาและสารเคมี ผู้ป่วยตับแข็งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ไม่จำเป็นรวมทั้งยาสมุนไพร เพราะยาหลายชนิดถูกทำลายที่ตับ และยาหลายชนิดเองก็อาจทำให้เกิดตับอักเสบ ดังนั้นจึงควรใช้ยา เมื่อมีข้อบ่งชี้ และภายใต้การดูแลของแพทย์ 

            ยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตตามอล (paracetamol) ยังเป็นยาที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตามผู้ป่วยตับแข็งจะเสี่ยงต่อการเกิดตับอักเสบ มากกว่าคนปกติ จึงควรรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตตามอลไม่เกิน 5 เม็ด ต่อวัน หรือแนะนำให้รับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัมครั้งละ 1 เม็ด และรับประทานซ้ำได้ 1 เม็ดทุก 6 ชั่วโมงถ้าจำเป็นในส่วนของยารักษาโรคตับที่แพทย์จัดให้ควรรับประทานอย่างสม่ำเสมอ ยาบางชนิดเช่น ยาป้องกันเส้นเลือดโปร่งพองแตก ถ้ารับประทานไม่สม่ำเสมออาจมีผลเสียมากกว่า 

          วัคซีน ผู้ป่วยตับแข็ง ควรมีการตรวจเลือดดูว่าเคยมีการติดเชื้อไวรัสบี ,ไวรัสเอ หรือยัง ถ้ายังควรรับการฉีดวัคซีนป้องกัน เพราะถ้าติดเชื้อตับอักเสบฉับพลันจากไวรัสเอ และไวรัสบีในผู้ป่วยตับแข็ง จะมีโอกาสเกิดตับวาย และเสียชีวิตได้สูง 

          เฝ้าระวัง ผู้ป่วยตับแข็ง ควรติดตามการดูแลรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด และควรมีการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับ โดยการเจาะเลือดตรวจดูค่า AFP ซึ่งเป็น marker ของมะเร็งตับชนิดหนึ่งกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ดูตับทุกประมาณ 6 เดือน ในกรณีที่ผู้ป่วยตับแข็งต้องได้รับการตรวจหรือทำหัตถการต่างๆ เช่น ถอนฟัน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติที่ต้องการการเตรียมผู้ป่วยเป็นพิเศษ 

ที่มา : http://www.thailiverfoundation.org/th/cms/detail.php?id=33

Posted in สุขภาพ และโภชนาการ | Tagged: , , , , | Leave a Comment »